การรักษา ไวรัสตับอักเสบ บีการรักษาไวรัสตับอักเสบ บี สามารถทำได้ดังนี้ คือ
การรักษาไวรัสตับอักเสบ บี ระยะเฉียบพลัน ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าได้รับการติดเชื้อตับอักเสบ บี เฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยมีโอกาสหายได้เองภายในไม่กี่เดือน โดยที่ร่างกายกำจัดและมีการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา แพทย์อาจแนะนำการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เช่น การพักผ่อน ดื่มน้ำให้มาก และรับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับโรค
นอกจากนั้นยังพบว่า ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการที่แสดงชัดเจนมากนัก ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น ได้ดังนี้
รับประทานยาแก้ปวด (พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน) สำหรับกรณีที่มีอาการปวดท้อง
อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ร่างกายไม่ร้อน ใส่เสื้อผ้าที่ไม่คับเกินไป รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงอาบน้ำร้อน ในกรณีที่เกิดผื่นคัน
รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือยาแก้แพ้คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เพื่อลดอาการผื่นคัน ซึ่งในบางรายอาจต้องได้รับใบสั่งยาหรือคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
อย่างไรก็ตาม อาจมีการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบว่ายังมีไวรัสอยู่หรือไม่ หรือตรวจสอบว่ามีการพัฒนาสู่ไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง หรือไม่
การรักษาไวรัสตับอักเสบ บี ระยะเรื้อรัง หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ระยะเรื้อรัง ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับแข็ง ตับวาย มะเร็งตับ และป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเป็นพาหะนำโรคไปสู่ผู้อื่น โดยการรักษา มีดังนี้
การรักษาด้วยการใช้ยาต้านไวรัส (Antiviral Medications) มียาต้านไวรัสอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น
ลามิวูดีน (LamivudineX)
อะดีโฟเวียร์ (Adefovir)
เทวบิวูดีน (Telbivudine)
เอนเทคคาเวียร์ (Entecavir)
โดยยาต้านไวรัสเหล่านี้ สามารถช่วยต่อสู้กับเชื้อไวรัสและชะลอไม่ให้ตับถูกทำลาย ซึ่งแพทย์จะแนะนำยาที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วย
ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon Alfa-2b) อินเตอร์เฟอรอน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อกำจัดเชื้อโรค โดยเฉพาะไวรัส ซึ่งปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์ขึ้นมาและนำมาใช้เป็นยาเพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ส่วนใหญ่จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุยังน้อยหรือผู้ที่วางแผนจะมีบุตร ในรูปแบบยาฉีด แต่อาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า หายใจลำบาก และแน่นหน้าอก
การปลูกถ่ายหรือผ่าตัดเปลี่ยนตับ หากตับของผู้ป่วยได้ถูกทำลายอย่างรุนแรง การปลูกถ่ายตับก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ ในการปลูกถ่ายตับ ศัลยแพทย์จะเอาตับส่วนที่ไม่ดีออกและแทนที่ด้วยตับที่ปกติดี โดยส่วนใหญ่ตับที่นำมาใช้ในการปลูกถ่ายจะมาจากผู้เสียชีวิตที่ได้บริจาคร่างกาย หรือมีส่วนน้อยที่ได้รับการบริจาคจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่