อาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก/เบลล์พัลซี (Bell's palsy/Idiopathic facial paralysis)โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก,อัมพาตเบลล์,เบลล์พัลซี,อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก,อัมพาตหน้าครึ่งซีก,โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก,bell's palsy,Idiopathic facial paralysis
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกหรือเบลล์พัลซี (โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก, อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก, อัมพาตเบลล์ ก็เรียก) หมายถึง โรคที่แสดงอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าเพียงซีกใดซีกหนึ่ง* ซึ่งเกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 (เส้นประสาทใบหน้า) เกิดการอักเสบ บวม โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ซึ่งมักมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และทุเลาได้ภายใน 2-3 สัปดาห์
พบได้ประมาณ 20-30 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี พบได้ในคนทุกวัย พบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 15-45 ปี
หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 3 เท่า และมักพบในระยะไตรมาสที่ 3 และระยะ 1 สัปดาห์หลังคลอด
นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี การติดเชื้อของทางเดินหายใจ (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่) ผู้ที่มีภาวะอ้วน และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ
*อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง (facial palsy/paralysis) มักเกิดเพียงซีกใดซีกหนึ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) นอกจากนั้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้หลายประการ เช่น การบาดเจ็บหรือผ่าตัดที่บริเวณใบหน้า โรคงูสวัดที่บริเวณใบหน้า โรคเรื้อน เนื้องอกบริเวณหู ใบหน้า หรือประสาทหู โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานของประสาทสมองเส้นที่ 7 ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงซีกหนึ่ง
สาเหตุ
เกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 หรือเส้นประสาทใบหน้า (facial nerve) ที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงานชั่วคราวโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักเกิดกับเส้นประสาทใบหน้าเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าข้างนั้นมีอาการอ่อนแรงไปชั่วระยะหนึ่ง
บางรายอาจพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเริมชนิด 1 (HSV-1) และเชื้อไวรัสงูสวัด (herpes zoster virus) ทำให้ประสาทสมองเส้นที่ 7 อักเสบ เกิดอาการอัมพาตของใบหน้า โดยอาจไม่พบผื่นตุ่มของโรคเริมหรืองูสวัดขึ้นที่ผิวหนังร่วมด้วย
บางรายอาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัด (ไวรัสอะดีโน) เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ คางทูม หัดเยอรมัน โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นต้น
อาการ
อาการมักเกิดขึ้นฉับพลัน โดยผู้ป่วยอยู่ดี ๆ (เช่น นอนตื่นขึ้นมา) ก็สังเกตเห็นปากเบี้ยวข้างหนึ่ง กลืนน้ำหรือบ้วนปากจะมีน้ำไหลออกที่มุมปาก เวลายิงฟันหรือยิ้มกว้าง จะเห็นมุมปากข้างนั้นตก (เนื่องจากขยับไม่ได้แบบอีกข้างที่ปกติ) ตาข้างเดียวกันนั้นจะปิดไม่มิด คิ้วข้างเดียวกันนั้นยักไม่ได้ ลิ้นซีกเดียวกันจะชาและรับรสไม่ได้ หูข้างเดียวกันอาจมีอาการปวดและอื้อ ประสาทหูข้างนั้นไวต่อเสียง (ได้ยินเสียงดังกว่าปกติ) ตาข้างนั้นมีน้ำตาออกน้อย มีอาการตาแห้ง (เนื่องจากต่อมน้ำตาข้างนั้นทำงานได้ไม่ปกติ) หรือปากมีน้ำลายออกน้อย (เนื่องจากต่อมน้ำลายข้างนั้นทำงานได้ไม่ปกติ)
บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, เคืองตา, พูดไม่ชัด, ดื่มน้ำหรือเคี้ยวอาหารค่อนข้างลำบาก
แต่ผู้ป่วยมีความรู้สึกตัวดี แขนขามีแรงดีและทำงานได้ตามปกติทุกอย่าง และถ้าอยู่เฉย ๆ (ไม่พูด ไม่ยิ้ม ไม่หลับตา หรือยักคิ้ว) ก็จะดูไม่ออกว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติ
บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณหน้า ขากรรไกร หรือหลังใบหูข้างที่เป็นอัมพาต ซึ่งอาจเริ่มตั้งแต่ก่อนมีอาการอัมพาตปากเบี้ยว 2-3 วัน
บางรายอาจมีอาการกำเริบเมื่อร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำเนื่องมาจากความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่พอ ร่างกายไม่สบายหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย บางรายมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อนมีอาการอัมพาตของใบหน้าประมาณ 1 สัปดาห์
ส่วนใหญ่อาการอัมพาตของใบหน้าเกิดเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น มีน้อยรายมากที่อาจเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ (เนื่องจากดื่มน้ำได้ลำบาก)
ตาข้างที่ปิดไม่มิดอาจเกิดสายพิการ (ตาบอด ตามัว) แทรกซ้อน เนื่องเพราะมีอาการตาแห้ง และมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือผู้ป่วยเผลอใช้นิ้วมือถูหรือขยี้ตา ทำให้กระจกตาอักเสบเป็นแผล
บางรายอาจมีการงอกผิดปกติของเส้นประสาทใบหน้า ทำให้ใบหน้าเกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติ (facial synkinesis) เช่น หนังตาปิดเวลายิ้ม คอเกร็งเวลายิ้มหรือผิวปาก ปากกระตุกเวลาหลับตา น้ำตาไหลเวลาเคี้ยวอาหาร กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็ง (ทำให้ปวดหน้าและศีรษะ) เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการรุนแรงและได้รับการรักษาล่าช้าไป อาจมีอาการหน้าเบี้ยวอย่างถาวร
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ได้แก่ มุมปากตก ตาปิดไม่มิด และยักคิ้วไม่ได้ เพียงข้างเดียว
หากจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุที่เกี่ยวข้อง หรือต้องการแยกจากสาเหตุอื่น (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง) จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด (เช่น ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจดูโรคติดเชื้อต่าง ๆ เป็นต้น) การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าประสาท (electroneurography) การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (electromyography/EMG) การตรวจหาเชื้อไวรัสเริมและงูสวัด เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
1. หากตรวจพบว่ามีอาการแขนขาซีกใดซีกหนึ่งมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย และตรวจพบว่าเป็นสโตรก (โรคลมอัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน) แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
2. หากตรวจพบว่าเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก แพทย์จะทำการประเมินสาเหตุและความรุนแรง และให้การรักษา ดังนี้
แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ (เช่น ยาเม็ดเพร็ดนิโซโลน) เพื่อลดการอักเสบและการบวมของเส้นประสาทใบหน้าที่ผิดปกติ ช่วยให้อาการทุเลาได้เร็วขึ้น ซึ่งควรให้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการจะได้ผลดี ยานี้ต้องให้แพทย์สั่งใช้เท่านั้น เพราะมีวิธีใช้และข้อควรระวังมาก หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงได้
ในรายที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเริมหรืองูสวัด แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (เช่น อะไซโคลเวียร์) ร่วมด้วย ซึ่งควรให้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการเช่นกัน
ป้องกันภาวะแทรกซ้อนของตาข้างที่มีอาการปิดไม่มิด โดยให้ผู้ป่วยใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ป้องกันไม่ให้ตาแห้ง (หยอดทุก 1-2 ชั่วโมง ระหว่างทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ), ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะหยอดตาในเวลากลางวันทุก 2-4 ชั่วโมง และใช้ยาป้ายตาปฏิชีวนะป้ายก่อนนอน เพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตาอักเสบเป็นแผล, ควรสวมแว่นตา หรือใช้ฝาครอบตา (eye shield) เพื่อป้องกันฝุ่นหรือแมลงเข้าตา
ให้ยาบรรเทาปวด (เช่น พาราเซตามอล) ถ้ามีอาการปวดบริเวณใบหน้า
บางรายแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยการสัมผัส (tactile stimulation), การกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยไฟฟ้า (electrical stimulation), การออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าและการฝึกการแสดงสีหน้า, การประคบด้วยความร้อน ประมาณ 15-20 นาที (เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณเส้นประสาทที่ผิดปกติ ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น)
ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะมีอาการแย่มากขึ้นใน 2-3 วันต่อมาจากวันแรกที่มีอาการ แล้วจะค่อย ๆ ฟื้นตัว จนอาการทุเลาใน 2-3 สัปดาห์ และหายได้สนิทใน 2-6 เดือน
ประมาณร้อยละ 10 อาจมีอาการหน้าเบี้ยวอย่างถาวร ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีลักษณะของการเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าอย่างเต็มที่ อาการไม่ดีขึ้นใน 3 สัปดาห์ อายุมากกว่า 60 ปี มีอาการปวดรุนแรง พบในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือหญิงตั้งครรภ์ หรือทดสอบพบว่ามีความเสื่อมของเส้นประสาทใบหน้าอย่างรุนแรง
ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่หายดีแล้ว อาจมีอาการกำเริบซ้ำในเวลานับเป็นปี ๆ ต่อมา (อาจเป็นที่ข้างเดิมหรือข้างตรงกันข้ามก็ได้) หากพบก็ควรตรวจให้แน่ชัดเสียก่อนว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น
การดูแลตนเอง
หากมีอาการอยู่ ๆ มีอาการปากเบี้ยวข้างหนึ่ง กลืนน้ำหรือบ้วนปากมีน้ำไหลออกที่มุมปาก หากมีอาการแขนขาซีกหนึ่งชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย หรือสงสัยว่าเป็นสโตรก (โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน) ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
ถ้าแขนขาแข็งแรงเป็นปกติดี พบว่าเวลายิ้มกว้างเห็นมุมปากข้างนั้นตก ร่วมกับตาข้างเดียวกันนั้นปิดไม่มิด และคิ้วข้างเดียวกันนั้นยักไม่ได้ และมั่นใจว่าไม่ได้เป็นสโตรก ควรปรึกษาแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (เบลล์พัลซี) นอกจากติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องแล้ว ควรดูแลตนเอง ดังนี้
กินยา ปฏิบัติตัว และดูแลรักษาตาข้างที่ปิดไม่มิดไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ด้วยการใช้น้ำตาเทียม ยาหยอดตาและยาป้ายตาปฏิชีวนะ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตา) ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ
ประคบน้ำอุ่น โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ ประคบใบหน้า นานครั้งละ 15-20 นาที วันละ 1-2 ครั้ง
นวดและบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า วันละ 1-2 ครั้ง โดยใช้ปลายนิ้วชี้กับนิ้วกลางนวดใบหน้าเบา ๆ วนจากหน้าผากผ่านแก้มลงมาที่คาง ประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นทำการบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าที่หน้ากระจก โดยทำท่าทางยักคิ้ว ขมวดคิ้ว หลับตาปี๋ ย่นจูมก ทำแก้มป่อง (พยายามไม่ให้ลมลอดออกมา) ไม่ทำปากจู๋ ยิ้มไม่เห็นฟัน ท่าละ 20-30 ครั้ง
กินอาหารที่ย่อยง่าย (เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ผักต้มเปื่อย หมูหยอง เนื้อปลานุ่ม ๆ ที่เอาก้างออก เป็นต้น) และเคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียด
จิบน้ำ นม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม ทีละน้อยบ่อย ๆ ป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
ทำความสะอาดช่องปาก อย่าให้มีเศษอาหารค้างในช่องปาก ทำการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันหลังกินอาหารทุกครั้ง
ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
มีภาวะขาดน้ำ (เนื่องจากดื่มน้ำไม่ได้) หรือกินอาหารไม่ได้
มีอาการเจ็บตา ตาแดง หรือตามัว
หลังดูแลรักษานาน 3 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น
มีอาการสงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
ควรผ่อนคลายความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกาย เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้
ควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยการดูแลรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง
ข้อแนะนำ
1. โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (เบลล์พัลซี) จำเป็นต้องแยกออกจากโรคสโตรก (โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน) ให้ชัดเจน เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้มีอาการปากเบี้ยวอย่างฉับพลันเหมือนกัน เนื่องจากมุมปากข้างหนึ่งอ่อนแรงไม่ขยับ เห็นชัดเวลายิ้มกว้าง
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทใบหน้าที่อยู่นอกกะโหลกศีรษะ จึงมีอาการผิดปกติเฉพาะที่ใบหน้าเท่านั้น แขนขาจะแข็งแรง สามารถเดินเหินและทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้เป็นปกติ เนื่องจากไม่มีความผิดปกติในสมองแต่อย่างใด
ส่วนโรคสโตรกมีความผิดปกติเกิดขึ้นในสมอง (ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบตัน) จึงทำให้มีอาการอ่อนแรงของใบหน้าและแขนขา เช่น มุมปากตก (ปากเบี้ยว) พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก แขนขาชาหรืออ่อนแรงข้างหนึ่ง เป็นต้น โรคนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทันที และรับยาละลายลิ่มเลือด (ที่อุดตันในสมอง) ให้ได้ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง (270 นาที) นับแต่เริ่มมีอาการเกิดขึ้น จึงจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะรุนแรงได้ (ดูเรื่อง "โรคหลอดเลือดสมอง" เพิ่มเติม)
ข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก นอกจากไม่มีอาการทางสมองดังที่พบในโรคสโตรกแล้ว อาการที่ใบหน้ายังมีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โรคสโตรกจะมีอาการอ่อนแรงเฉพาะที่ส่วนล่างของหน้า คือ ปากเบี้ยว (มุมปากตกข้างหนึ่ง) เพียงอย่างเดียว ส่วนบนของใบหน้ายังเป็นปกติ คือยักคิ้ว และปิดตาได้ทั้ง 2 ข้าง ส่วนโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งส่วนบนและส่วนล่าง จึงมีอาการปากเบี้ยว (มุมปากตกข้างหนึ่ง) ร่วมกับอาการคิ้วข้างเดียวกันนั้นยักขึ้นไม่ได้ และตาข้างเดียวกันนั้นปิดไม่ได้สนิท
2. โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกพบได้บ่อยในคนทุกวัยทุกเพศ ถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและหายได้เป็นปกติเป็นส่วนใหญ่ แต่จำเป็นต้องไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาด้วยยาลดการอักเสบและการบวมของเส้นประสาทใบหน้าที่ผิดปกติ (รวมทั้งอาจต้องให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสบางชนิด) ให้ได้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลดี
ส่วนน้อยอาจมีอาการหน้าเบี้ยวอย่างถาวร หรือมีอาการที่เกิดจากการงอกผิดปกติของเส้นประสาทใบหน้า (facial synkinesis) แทรกซ้อน แพทย์อาจทำการแก้ไขด้วยการฉีดสารโบทูลินัม (botulinum toxin) หรือโบท็อกซ์ (Botox) หรือบางรายอาจทำการแก้ไขด้วยการผ่าตัด
3. โรคนี้จะค่อย ๆ ทุเลาจนดีขึ้นชัดเจนใน 2-3 สัปดาห์ โดยกล้ามเนื้อใบหน้าตอนบนจะเริ่มฟื้นตัวได้ก่อนตอนล่าง กล่าวคือ ผู้ป่วยจะยักคิ้วและปิดตาได้ก่อนที่จะหายปากเบี้ยว ดังนั้น ผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกต โดยยักคิ้วและหลับตาทุกวัน ถ้าพบว่าเริ่มทำได้ก็แสดงว่ามีโอกาสหายได้เร็ว
4. การรักษาหลัก ๆ คือวิธีที่กล่าวไว้ในหัวข้อ "การรักษาโดยแพทย์" ส่วนวิธีรักษาอื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม (กระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยให้อาการทุเลาลง), การฝึกควบคุมร่างกายด้วย "เทคนิคไบโอฟีดแบก (Biofeedback ซึ่งช่วยให้ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ดีขึ้น) ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาถึงความจำเป็น และเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย
5. อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หากมีผื่นงูสวัดปรากฏในบริเวณรอบ ๆ หูข้างเดียวกับใบหน้าซีกนั้น มักเกิดจากการติดเชื้องูสวัด ทำให้มีการอักเสบของประสาทใบหน้าและประสาทหู นอกจากอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกแล้ว ยังมีอาการปวดหู มีเสียงดังในหู วิงเวียน บ้านหมุน คลื่นไส้ หูอื้อ หูตึง ตากระตุก เรียกว่า "กลุ่มอาการแรมเซย์ฮันต์ (Ramsay-Hunt syndrome)" แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส (เช่น อะไซโคลเวียร์) และยาเม็ดเพร็ดนิโซโลน เพื่อลดการอักเสบและความรุนแรงของโรค