ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจสุขภาพ: อหิวาต์ (Cholera)  (อ่าน 109 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 438
  • ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี โปรโมทสินค้าฟรี ซื้อ ขาย เช่า บริการ ลด แหล่งรวม ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี โปรโมทสินค้าฟรี ซื้อ ขาย เช่า บริการ
    • ดูรายละเอียด
ตรวจสุขภาพ: อหิวาต์ (Cholera)
« เมื่อ: วันที่ 4 มกราคม 2024, 13:46:25 น. »
อหิวาต์ (อหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ก็เรียก) เป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว

ในสมัยก่อนพบว่าการระบาดแต่ละครั้งมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นร้อยเป็นพัน จึงมีชื่อเรียกกันมาแต่โบราณว่า โรคห่า

ในปัจจุบันโรคนี้ลดความรุนแรงลง และพบระบาดน้อยลง มีรายงานโรคนี้ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ พบประปรายทางภาคอีสานและภาคเหนือ โรคนี้พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ มักพบในคนอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป สามารถพบได้ประปรายทุกเดือนตลอดทั้งปี มักพบในถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี และในหมู่คนที่กินอาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุกหรือขาดสุขนิสัยที่ดี


สาเหตุ

เกิดจากเชื้ออหิวาต์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า วิบริโอคอเลอรา (Vibrio cholerae) เชื้ออหิวาต์มีอยู่หลายชนิด ตัวก่อโรคที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ ชนิดเอลทอร์ (EI Tor)* กับวิบริโอคอเลอรา O139**

เชื้ออหิวาต์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด คนเราสามารถติดเชื้อชนิดนี้โดยการกินอาหารทะเลแบบดิบ ๆ ดื่มน้ำหรือกินอาหาร รวมทั้งน้ำแข็ง ไอศกรีมที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยมีแมลงวันหรือมือเป็นสื่อกลางในการนำพาเชื้อ แล้วผู้ติดเชื้อ (ผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ)*** ก็จะปล่อยเชื้อออกทางอุจจาระไปอยู่ตามดินและน้ำ ซึ่งแพร่กระจายสู่ผู้อื่นในวงกว้างจนเกิดการระบาดได้

นอกจากนี้ อาจติดจากผู้ติดเชื้อโดยการสัมผัสใกล้ชิด เชื้อสามารถติดผ่านมือเข้าไปในปากได้

เชื้ออหิวาต์จะรุกล้ำเข้าไปที่เยื่อบุลำไส้เล็กแล้วปล่อยสารพิษ (ชื่อ cholera toxin) ทำให้ลำไส้เล็กหลั่งน้ำและเกลือแร่ออกมาในอุจจาระจำนวนมาก เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำ

ระยะฟักตัว 6 ชั่วโมง ถึง 5 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 24-48 ชั่วโมง)

*เริ่มพบในปี พ.ศ. 2504 อยู่ในกลุ่ม วิบริโอคอเลอรา O1 ซึ่งแบ่งเป็นชนิดคลาสสิก (classic ซึ่งเป็นตัวก่อโรคระบาดร้ายแรงมาแต่เดิม) กับเอลทอร์ (ซึ่งก่อโรคที่มีความรุนแรงน้อยลง)
**เริ่มพบในปี พ.ศ. 2535
***ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เชื้อมักอยู่ในอุจจาระช่วงสั้น ๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะถูกขับออกหมด ส่วนน้อยที่อาจมีเชื้อในอุจจาระเป็นเวลานาน


อาการ

ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง คล้ายโรคท้องเดินทั่วไป หรืออาหารเป็นพิษ มักหายได้เองภายใน 1-5 วัน

ในรายที่เป็นมากมักมีอาการถ่ายเป็นน้ำรุนแรง อุจจาระมักจะไหลพุ่ง โดยไม่มีอาการปวดท้อง (ส่วนน้อยที่อาจมีอาการปวดบิดในท้อง) และมีอาการอาเจียนตามมาโดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน (ส่วนน้อยอาจมีอาการคลื่นไส้) ระยะแรกอุจจาระมีเนื้อปน ลักษณะเป็นน้ำสีเหลือง แต่ต่อมาจะกลายเป็นน้ำล้วน ๆ บางรายอุจจาระมีลักษณะเหมือนน้ำซาวข้าว ไม่มีกลิ่นอุจจาระ อาจมีกลิ่นคาวเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจถ่ายวันละหลายครั้งถึงหลายสิบครั้ง หรือไหลพุ่งตลอดเวลา ส่วนอาการอาเจียนนั้น แรกเริ่มออกเป็นเศษอาหาร ต่อมาเป็นน้ำ และน้ำซาวข้าว

หากเป็นรุนแรงมักถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 250 มล./กก./วัน และเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและช็อกอย่างรวดเร็ว (ภายใน 4-18 ชั่วโมง) ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงแหบแห้ง เป็นตะคริว ตัวเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมักจะเสียชีวิตภายในเวลาสั้น ๆ


ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะขาดน้ำรุนแรงและช็อก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันตามมา

นอกจากนี้ ยังทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่ เกิดอาการตะคริว ภาวะเลือดเป็นกรด และภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา

บางรายอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเนื่องจากกินอาหารไม่ได้

หญิงตั้งครรภ์อาจแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมักตรวจพบภาวะขาดน้ำตั้งแต่ขนาดเล็กน้อยถึงรุนแรง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบภาวะช็อก หายใจเร็วจากภาวะเลือดเป็นกรด ในเด็กอาจพบว่ามีไข้ ชัก ซึม หรือหมดสติ

แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจอุจจาระและเพาะเชื้อจากอุจจาระ (rectal swab culture) และตรวจเลือดดูความสมดุลของอิเล็กโทรไลต์


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะขาดน้ำรุนแรง และยังกินอาหารหรือดื่มน้ำได้ดี ให้การรักษาแบบอาการท้องเดินหรืออาหารเป็นพิษทั่วไป คือให้กินสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อ เมื่อทราบผลการตรวจว่าเป็นโรคนี้ หรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ เช่น เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยอหิวาต์ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้ออหิวาต์

2. ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น ถ่ายเป็นน้ำรุนแรง อาเจียนรุนแรง กินไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

นอกจากให้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้ออหิวาต์ แพทย์จะทำการปรับดุลสารน้ำและเกลือแร่ โดยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ในรูปของริงเกอร์แล็กเทต (Ringer lactate) หรืออะซีทาร์ (Acetar) ถ้าไม่มีอาจใช้น้ำเกลือนอร์มัล (NSS) แทน โดยให้ในปริมาณที่สามารถทดแทนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และให้กินโพแทสเซียมคลอไรด์ หรือให้ทางหลอดเลือดดำถ้าอาเจียน

3. แพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคอหิวาต์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน โคไตรม็อกซาโซล นอร์ฟล็อกซาซิน อีริโทรไมซิน เป็นต้น

ผลการรักษา หากได้รับการรักษาได้ทันการ มักจะหายได้ภายใน 3-6 วัน หลังได้รับยาปฏิชีวนะ

เชื้อโรคอยู่ในอุจจาระผู้ติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ป่วย (ที่มีอาการแสดง) กับพาหะ (ที่ไม่มีอาการแสดง) เมื่อถูกขับถ่ายออกมาก็สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่น โดยการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ (เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง) อาหาร น้ำดื่ม มือของผู้ติดเชื้อ (ที่ไม่ได้ล้างน้ำหลังถ่ายอุจจาระ) สิ่งของและสภาพแวดล้อมที่ถูกมือของผู้ติดเชื้อสัมผัส ทั้งนี้มีแมลงวันและแมลงสาบ (ที่ไต่ตอมอุจจาระของผู้ติดเชื้อ) เป็นพาหะนำเชื้อ


คนเราสามารถติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยทางใดทางหนึ่งดังนี้

1. ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแบบดิบ ๆ บางกรณี (เช่น บิดอะมีบา ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย) ก็อาจเกิดจากการดื่มน้ำประปา หรือกลืนน้ำในสระว่ายน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

2. กินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ การปนเปื้อนเชื้ออาจเกิดจากข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

    แมลงวัน (และบางครั้งแมลงสาบ) เป็นพาหะนำเชื้อ
    มือของผู้ติดเชื้อ หรือมือของคนใกล้ชิดที่ปนเปื้อนเชื้อ (จากการสัมผัสมือของผู้ติดเชื้อ หรือสิ่งของ หรือสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อปนเปื้อน) ไปจับต้องอาหารหรือน้ำดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาหาร ผู้ให้บริการด้านอาหาร และสมาชิกในครอบครัวที่เป็นพาหะ จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ เพราะอาจไม่ระวังเนื่องจากไม่มีอาการแสดง
    ปนเปื้อนดินหรือน้ำที่มีเชื้อ รวมทั้งผักผลไม้ที่ปลูกโดยการใส่ปุ๋ยที่ทำจากอุจจาระคน และผักผลไม้ที่ล้างด้วยน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน

3. ติดต่อจากคนสู่คน โดยข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

    การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อภายในบ้าน สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานพักฟื้น โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน สถานประกอบการ ค่ายทหาร ค่ายกิจกรรมต่าง ๆ โดยการใช้มือสัมผัสถูกมือของผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสถูกสิ่งของหรือสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อปนเปื้อน แล้วนำมือที่เปื้อนเชื้อนั้นสัมผัสปากของตนเองโดยตรง หรือไปเปื้อนถูกอาหารหรือน้ำดื่มอีกต่อหนึ่ง
    การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้ปากสัมผัสถูกทวารหนักหรืออวัยวะเพศของผู้ติดเชื้อ ซึ่งนิยมปฏิบัติในหมู่ชายรักร่วมเพศ การติดเชื้อโดยวิธีนี้อาจเกิดกับเชื้อโรคบางชนิดที่มีระยะของการเป็นพาหะนาน ๆ เช่น เชื้ออะมีบา เชื้อไกอาร์เดีย บิดชิเกลลา เป็นต้น


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ผู้ป่วยท้องเดินที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นอหิวาต์ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ ควรดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

หากตรวจพบว่าเป็นอหิวาต์ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

1. ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาด ไม่ดื่มน้ำคลอง หรือดื่มน้ำบ่อแบบดิบ ๆ ไม่กินน้ำแข็งหรือไอศกรีมที่เตรียมไม่สะอาด กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และไม่มีแมลงวันตอม ไม่กินอาหารทะเลแบบดิบ ๆ ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าว และหลังการถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ควรถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลองหรือตามพื้นดิน

2. สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ควรนำอุจจาระและสิ่งที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมาไปเทใส่ส้วมหรือฝังดินให้มิดชิด อย่าเทตามพื้นหรือลงแม่น้ำลำคลอง ส่วนเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่แปดเปื้อนเชื้อ ห้ามนำไปซักในแม่น้ำลำคลอง ควรแช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือนำไปฝังหรือเผาเสีย

3. ในปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะแก่ชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากไม่ได้ผลและทำให้เชื้อดื้อยา แต่อาจพิจารณาให้ในกลุ่มคนขนาดเล็ก เช่น ในเรือนจำ หรือในชุมชนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกินร้อยละ 20

4. ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันอหิวาต์ชนิดใหม่ในรูปของการกินทางปาก (oral vaccine) ให้ 2 ครั้งห่างกัน 10-14 วัน ซึ่งสามารถใช้ป้องกันได้ผลดี แพทย์จะเลือกใช้ในบางกรณี เช่น ผู้ที่ต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรค เป็นต้น


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงรุนแรง หรือสงสัยเป็นอหิวาต์ (เช่น เป็นผู้สัมผัสโรค หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค) แพทย์จะทำการเก็บอุจจาระส่งเพาะหาเชื้อ ถ้าพบว่าเป็นอหิวาต์จะได้ดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้เกิดการระบาด

2. สำหรับผู้สัมผัสโรค แพทย์จะทำการเก็บอุจจาระส่งเพาะหาเชื้อ และเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 5 วัน ถ้าพบว่าเป็นพาหะก็ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่กระจายเชื้อ



ตรวจสุขภาพ: อหิวาต์ (Cholera) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker